Skip to content

พิธีลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานด้านวิชาการ วิจัย พัฒนาระบบบริการ การบริหารจัดการฐานข้อมูลระบบสารสนเทศ ในการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะในพื้นที่เครือข่ายเขตสุขภาพที่ 1 โซนล้านนา 1 ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ เครือข่ายสุขภาพที่ 1 โซนล้านนา 1”

  • by

วันที่ 19 มิถุนายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 ผู้รับมอบอำนาจจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมพิธีลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานด้านวิชาการ วิจัย พัฒนาระบบบริการ การบริหารจัดการฐานข้อมูลระบบสารสนเทศ ในการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะในพื้นที่เครือข่ายเขตสุขภาพที่ 1 โซนล้านนา 1 ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ เครือข่ายสุขภาพที่ 1 โซนล้านนา 1” ร่วมกับ เครือข่ายสุขภาพที่ 1 โซนล้านนา 1 ร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยมี นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กฤษณ์ ขวัญเงิน รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ผศ.ทพ.ดร.นฤมนัส คอวนิช คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ศ.ดร.สาคร พรประเสริฐ คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ นายแพทย์วรัญญู จำนงประสาทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทพญ.อัมพร เดชพิทักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และหัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุขจังหวัดลำพูน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้เกียรติเข้าร่วมเป็นสักขีพยานลงนามในครั้งนี้ด้วย

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างระบบของการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ พิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ที่มีกระบวนการรักษาที่ซับซ้อนและจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากสหสาขาวิชาชีพร่วมกัน โดยทางกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมดำเนินการโครงการ “ยิ้มสวย เสียงใส” เทิดพระเกียรติ 50 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยมุ่งหวังให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ทุกรายได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์ จากทีมสหวิชาชีพในแต่ละช่วงอายุอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องในระยะยาว ทางเขตสุขภาพที่ 1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้สังกัด ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูนและแม่ฮ่องสอน จะประสานความร่วมมือร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการดำเนินงานด้านวิชาการ วิจัย พัฒนาระบบบริการ ตลอดจนบริหารจัดการฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศ ในการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะในพื้นที่เครือข่ายเขตสุขภาพที่ 1 โซนล้านนา 1

ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการยิ้มสวยเสียงใส มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลากว่า 18 ปี ในรูปแบบทีมสหสาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นักแก้ไขการพูด นักกิจกรรมบำบัด รวมทั้งมีการส่งต่อผู้มารับบริการและการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยบริการทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ โดยที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ได้ทำการศึกษาอุบัติการณ์การเกิดภาวะปากแหว่งและ/หรือเพดานโหว่ในเด็กเกิดมีชีพสัญชาติไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2558-2562 พบมีค่าเท่ากับ 2.2 คนต่อเด็กเกิดมีชีพ 1,000 คน หรือเฉลี่ย 24 คนต่อปี มีผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ที่อยู่ในความดูแลกว่า 800 คน ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่สามารถเป็นพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษาให้กับจังหวัดลำพูนและจังหวัดแม่ฮ่องสอนในการขับเคลื่อนโครงการยิ้มสวยเสียงใสในจังหวัดตนเองต่อไป เพื่อท้ายที่สุดแล้วจะช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติ ความร่วมมือและการสนับสนุนช่วยเหลือระหว่างหน่วยงานจะเป็นพลังที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อนและพัฒนางาน รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน จะก่อให้เกิดระบบการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะแบบองค์รวมไร้รอยต่อ “Seamless holistic cleft care system”ต่อไป

ที่มา : เชียงใหม่นิวส์
https://www.chiangmainews.co.th/social/2992703/